วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

นวัตกรรมสื่อ : เทคโนโลยี พฤติกรรม และ จริยธรรมของสื่อมวลชน

สื่อมวลชนที่เป็นเสาหลักในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ยังคงเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ เพราะสามารถกระจายข่าวสารได้กว้างขวาง เข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด แม้จะเกิดสื่อสมัยใหม่หรือสื่อทางเลือกขึ้น อันได้แก่ สื่อออนไลน์ สื่อดิจิตอล แต่การเข้าถึงผู้รับข่าวสารยังอยู่ในวงจำกัด ดังนั้น สื่อกระแสหลักดั้งเดิมคือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ จึงยังมีอิทธิพลต่อผู้คนเช่นเดิม
แต่อิทธิพลของสื่อกระแสหลักดังกล่าว กำลังถูกท้าทายจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ได้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆแก่สื่อเป็นอันมาก โดยเฉพาะในด้านเทคนิคที่เครื่องมือเครื่องใช้ได้รับการพัฒนาให้มีความสะดวกสบายในการใช้งาน ราคาถูกลง ประสิทธิภาพดีขึ้น ดังนั้น การเป็นเจ้าของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ หากพิจารณาในเรื่องการลงทุนแล้ว สามารถทำได้ง่ายขึ้น จึงปรากฏว่า มีสื่อสิ่งพิมพ์น้อยใหญ่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งเพื่อการเสนอข่าวสาร เพื่อให้ความรู้ เพื่อความบันเทิง และเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เป็นการเฉพาะมากขึ้น สถานีวิทยุก็สามารถจัดตั้งได้ในทุกสถานที่คือวิทยุชมชน ส่วนสถานีโทรทัศน์ก็ไม่มีความยุ่งยากเหมือนเมื่อก่อน เพราะปัจจุบันสามารถจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวี สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม โดยใช้ทุนและเวลาไม่มากนัก ดังนั้น นวัตกรรมทางเทคโนโลยีการสื่อสาร จึงทำให้เกิดนวัตกรรมของสื่อรูปแบบใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น กระจายข้อมูลข่าวสารถึงผู้รับอย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น

การเกิดขึ้นของสื่อรูปแบบใหม่ๆดังกล่าว ข้อดีก็คือ ทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนทำได้มากยิ่งขึ้น ประชาชนในระดับท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนในการบริหารจัดการ สร้างเนื้อหา และพัฒนาสื่อเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนได้มากขึ้น เช่น ดำเนินการผ่านวิทยุชุมชนที่มีการจัดตั้งกันอย่างมากมายในระยะ 4-5 ปีมานี้ ถึงแม้จะมีปัญหาด้านกฎหมายอยู่ก็ตาม ส่วนข้อเสียก็คือ โอกาสที่จะมีการผูกขาดการจัดการข้อมูลข่าวสารก็เกิดขึ้นได้ หากเจ้าของวิทยุชุมชนดังกล่าวไม่ใช่ชุมชน แต่เป็นผู้ลงทุนที่มุ่งแสวงหากำไรจากธุรกิจเพียงอย่างเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น