วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ความหมายของคุณธรรมและจริยธรรม

คุณธรรม ประกอบด้วยคำสองคำ คือ คำว่า คุณ แปลว่า ประโยชน์ และคำว่า ธรรม ในทำนองเดียวกันกับคำว่า จริยธรรม ก็ประกอบด้วยคำว่า จริย แปลว่า ความประพฤติที่พึงประสงค์ ทั้งคุณธรรมและจริยธรรม มีคำว่า ธรรม เป็นคำร่วม ซึ่ง พระเทวินทร์ เทวินโท (2544) อธิบายความหมายของคำว่าธรรม ว่า หมายถึง ความจริง ความประพฤติดี ความถูกต้อง คุณความดี ความชอบ คำสั่งสอน ดังนั้นเพื่อความเข้าใจในความหมายของทั้งสองคำนี้จึงควรพิจารณาคำนิยามตามแนวทัศนะของจริยศาสตร์และสังคมศาสตร์ควบคู่กันไปด้วย
คำว่า คุณธรรม (Moral) และจริยธรรม (Ethics) ในทัศนะของจริยศาสตร์และสังคมศาสตร์มีความหมายดังต่อไปนี้
คุณธรรม หมายถึง หลักจริยธรรมที่สร้างความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีคุณงามความดีภายในจิตใจอยู่ในขั้นสมบูรณ์จนเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขความยินดี (ประภาศรี สีหอำไพ, 2543)
คุณธรรม หมายถึง สิ่งที่บุคคลยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดีงามมีประโยชน์มากมายและมีโทษน้อย (ดวงเดือน พันธุมนาวิน, 2538)
จริยธรรม หมายถึง ความประพฤติปฏิบัติที่มีธรรมะเป็นตัวกำกับ จริยธรรมก็คือ ธรรมที่เป็นไป ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม ( พระเทวินทร์ เทวินโท, 2544)
จริยธรรม ในความหมายของ สุนทร โคตรบรรเทา (2544) กล่าวว่า ถ้าจะตีความแคบ ๆ จริยธรรมคงหมายถึง ศีลธรรมประการหนึ่งและคุณธรรมอีกประการหนึ่งรวมเป็นสองประการด้วยกัน
นอกจากนี้ วริยา ชินวรรโณ (2546) ได้ประมวลความหมายของคำว่า จริยธรรม ตามที่บุคคลต่าง ๆ ได้กล่าวไว้ ดังนี้
พระราชชัยกวี (ภิกขุพุทธทาส อินทปัญโญ) กล่าวว่า จริยธรรมเป็นสิ่งพึงประพฤติ จะต้องประพฤติ ส่วนศีลธรรม นั้น คือสิ่งที่กำลังประพฤติอยู่หรือประพฤติดีแล้ว
วิทย์ วิศทเวทย์ อธิบายว่า จริยธรรมคือความประพฤติตามค่านิยมที่พึงประสงค์
สาโรช บัวศรี ให้ความหมายของจริยธรรมว่า คือ หลักความประพฤติที่อบรมกิริยาและปลูกฝังลักษณะนิสัยให้อยู่ในครรลองของของคุณธรรมหรือศีลธรรม
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวว่า จริยธรรม คือสิ่งที่คนในสังคมเกิดความเชื่อถือซึ่งมีตัวตนมาจากปรมัตถสัจจะ
ก่อ สวัสดิพาณิชย์ กล่าวว่า จริยธรรม ประมวลความประพฤติและความนึกคิดในสิ่งที่ดีงามและเหมาะสม
ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2538) กล่าวว่า คำว่า จริยธรรม นั้น หมายถึง ระบบการทำความดี ละเว้นความชั่ว ซึ่งเป็นระบบที่หมายถึงสาเหตุที่บุคคลจะกระทำหรือไม่กระทำ และผลของการกระทำและไม่กระทำ ตลอดจนกระบวนการเกิดและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเหล่านี้ด้วย สำหรับความหมายของจริยธรรมในการทำงาน ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2538) กล่าวว่า คือ ระบบการทำความดีละเว้นความชั่ว ในเรื่องซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบและเกี่ยวข้องกับผู้ปฏิบัติ เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การทำงาน เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงาน และผลงานตลอดจนเกี่ยวข้องกับผู้รับผลประโยชน์หรือโทษจากผลงานนั้น ๆ
จากความหมายของทั้งสองคำดังกล่าว พบว่ามีความใกล้เคียงกันเป็นอย่างมากจึงมักเป็นคำที่ใช้คู่กัน แต่อย่างไรก็ตามสรุปได้ว่าการมีคุณธรรมและจริยธรรมของบุคคลทั้งในการดำรงชีวิตประจำวันและในการทำงานหรือการประกอบวิชาชีพจะส่งผลให้บุคคลมีความสุขในการอยู่ร่วมกันในสังคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น